การบริหารจัดการคู่ค้า

การบริหารจัดการคู่ค้า

คู่ค้าถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนความต่อเนื่องทางธุรกิจขององค์กร บริษัทฯ จึงได้มีการกำหนดแนวปฏิบัติด้านการจัดซื้อจัดจ้างอย่างโปร่งใส ยุติธรรม และสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งจะต้องพิจารณาตั้งแต่หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกคู่ค้า จรรยาบรรณธุรกิจสำหรับคู่ค้า กระบวนการในการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผล คู่ค้า ตลอดจนการบริหารความสัมพันธ์กับคู่ค้า เพื่อเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการ ภาพลักษณ์ และการดำเนินงานของบริษัทฯ ทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้คู่ค้าเติบโตอย่างมีศักยภาพ นำไปสู่การเป็นคู่ค้าธุรกิจที่แข็งแกร่งกับบริษัทฯ ในระยะยาว

100% ของคู่ค้ารายสำคัญผ่านการ ประเมินความเสี่ยงตามหลักเกณฑ์ ESG

ระยะเวลาเฉลี่ยในการชำระเงินให้กับคู่ค้าเท่ากับ 25 วัน
ซึ่งเป็นไปตามแนวปฏิบัติที่บริษัทฯกำหนดไว้ภายใน 30 วัน

จรรยาบรรณธุรกิจสำหรับคู่ค้า

จริยธรรมทางธุรกิจ

  1. ดำเนินธุรกิจตามกฎหมายด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้
  2. ปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างเป็นธรรม
  3. รักษาข้อมูลส่วนบุคคลของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
  4. ปฏิบัติตามกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา
  5. มีการเปิดเผยข้อมูล กรณีที่อาจเป็นการขัดแย้งกันทางผลประโยชน์
  6. สนับสนุนให้คู่ค้าจัดซื้ออย่างรับผิดชอบ
  7. มีการตรวจสอบเมื่อพบข้อผิดพลาดที่เกี่ยวข้องกับคู่ค้าภายหลังจากการส่งมอบงานแล้ว

สิทธิมนุษยชนและแรงงาน

  1. เคารพในความแตกต่างและปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ
  2. ไม่รับผลประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงานและกดขี่แรงงานในทุกรูปแบบ
  3. ไม่ใช้แรงงานเด็กที่มีอายุไม่ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด หากมีต้องมีการคุ้มครองอย่างเหมาะสม
  4. มีค่าจ้างและค่าตอบแทนต่อพนักงานและแรงงานที่เหมาะสมและเป็นธรรม มีสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับตามที่กฎหมายกำหนด
  5. ไม่จ้างแรงงานผิดกฎหมาย

อาชีวอนามัยและความปลอดภัย

  1. ปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
  2. จัดให้มีสภาพแวดล้อมการทำงาน อุปกรณ์ที่ปลอดภัย ถูกต้องตามหลักอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
  3. ไม่ละเลยต่อการกระทำในสถานที่ทำงานที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อพนักงาน
  4. มีแนวทางการป้องกัน แก้ไข และเยียวยา ในประเด็นความเสี่ยงด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

การจัดการด้านชุมชนและสิ่งแวดล้อม

  1. มีการดำเนินธุรกิจที่ปฏิบัติตามข้อบังคับและกฎหมายสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศและท้องถิ่น
  2. พิจารณาถึงผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจหรือมีผลต่อธุรกิจ
  3. ไม่ใช้แรงงานเด็กที่มีอายุไม่ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด หากมีต้องมีการคุ้มครองอย่างเหมาะสม
  4. บริษัทฯ สนับสนุนให้คู่ค้าใช้ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกระบวนการ ที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
  5. บริษัทฯ สนับสนุนให้คู่ค้าได้รับการรับรองมาตรฐานด้านความยั่งยืนที่มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางธุรกิจของคู่ค้า

การบริหารจัดการความเสี่ยงของคู่ค้า

การคัดเลือกคู่ค้า
บริษัทฯ มีแนวทางการคัดกรองคู่ค้าที่เป็นระบบ โดยตัวอย่างหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก คู่ค้าที่บริษัทฯ ใช้ ได้แก่
- ราคา คุณภาพของสินค้าหรือบริการ
- การให้บริการหลังการขายและการรับประกัน
- ธุรกิจสามารถตรวจสอบได้ และไม่มีประวัติการทุจริตภายในองค์กร
- การดำเนินการด้านการกำกับดูแลกิจการ สังคม และสิ่งแวดล้อม (ESG) ของคู่ค้า

การกำหนดกลุ่มคู่ค้าสำคัญ
บริษัทฯ ได้มีการจัดกลุ่มคู่ค้าออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- คู่ค้าสำคัญ (Critical Tier1) โดยพิจารณาจากยอดการสั่งซื้อสูงสุดจำนวน 20 อันดับ
- คู่ค้าสำคัญที่ไม่ได้ทำธุรกิจกับบริษัทฯ โดยตรง (Critical Non-Tier1) โดยเป็นคู่ค้า อื่นๆ นอกเหนือจากคู่ค้าสำคัญ (Critical Tier 1) โดยในปี 2566 บริษัทฯ มีคู่ค้าทั้งสิ้น 155 ราย เป็นคู่ค้าสำคัญ (Critical Tier 1) และ คู่ค้าสำคัญที่ไม่ได้ทำธุรกิจกับบริษัทฯ โดยตรง (Critical Non-Tier1) คิดเป็นร้อยละ 12.9 (Critical Tier1) และ 87.1 ตามลำดับ

การประเมินความเสี่ยงของคู่ค้า
บริษัทฯ จัดให้มีการประเมินความพึงพอใจและประเมินความเสี่ยงในด้านต่างๆ ที่อาจเกิดจากคู่ค้าของบริษัทฯ เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้คู่ค้ามีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยตัวอย่างหลักเกณฑ์ในการประเมิน เช่น
- การประเมินด้านเศรษฐกิจ เช่น ปริมาณคู่ค้าในท้องตลาด คุณภาพของสินค้า และความรวดเร็วในการจัดส่ง
- การประเมินด้านสังคม เช่น ค่าตอบแทนและสวัสดิการแรงงาน สิทธิมนุษยชน ความปลอดภัยในสถานที่ทำงานและการปฏิบัติตามข้อกำหนดและกฎหมาย
- การประเมินด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการของเสียที่เป็นมลพิษ และการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ในปี 2566 จากการประเมินความเสี่ยงคู่ค้าสำคัญ (Critical Tier1) ร้อยละ 100 ไม่พบประเด็นความเสี่ยงที่เกิดจากคู่ค้าของบริษัทฯ ทั้งนี้ในปี 2567 บริษัทฯ มีแผนจะลงพื้นที่เยี่ยมชมการทำงานของคู่ค้า (Site Visit) โดยจะเริ่มในคู่ค้าสำคัญก่อน

การพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน
บริษัทฯ มีการจัดให้คู่ค้าได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ รวมถึงดำเนินการจัดโครงการและกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับคู่ค้าเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ใน 2566 บริษัทฯ มีการดำเนินการสื่อสารไปยังคู่ค้าปัจจุบันซึ่งรวมถึงคู่ค้ารายใหม่ เพื่อเชิญชวนให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้าน คอร์รัปชั่นของภาคเอกชนไทย ผ่านช่องทางอีเมลของบริษัทฯ